ทำไมอายุมากขึ้น ต้องระวังมากขึ้น ?
27 Aug, 2021 / By
agong-ama
ประเทศไทยกับ “สังคมผู้สูงอายุ”
สิ่งนี้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ในปี 2564 แล้วจริงหรือ?
คุณเคยรู้ไหมว่า...ปัจจุบันสัดส่วนของคนไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% แล้ว (หรือประมาณ 13 ล้านคนจากจำนวนคนไทยทั้งหมดประมาณ 66 ล้านคน) หรือเรียกได้ว่า ‘ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว’ (Aged Society)
ประเด็นนี้จึงเป็นหนึ่งในความท้าทายของประเทศที่ต้องเตรียมรับมือด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างจริงจัง รวมถึงฝั่งของลูกหลานเองที่ต้องเพิ่มความเอาใจใส่กับผู้สูงอายุในบ้านของตนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะสุขภาพกายหรือสุขภาพใจ
เพราะผู้สูงอายุคือกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงกว่าวัยอื่นๆ วันนี้เราอยากมาเล่าถึงปัญหาและอาการต่างๆ ของผู้สูงวัยที่ลูกหลานหรือคนในครอบครัวควรจะให้ความสำคัญมากๆ
นอนไม่เป็นเวลา นอนไม่หลับ เนื่องจากคุณภาพการนอนลดน้อยลง
- การสังเกต = ท่านจะมีอาการเหมือนหลับๆตื่นๆบ่อย รู้สึกไม่สดชื่นเพราะนอนไม่พอ แล้วมักจะงีบหลับในช่วงบ่าย
- การดูแล = ให้ท่านเลี่ยงการงีบหลับในช่วงเวลาใกล้นอน นวดตามร่างกายให้ท่านเพื่อลดอาการปวด และจัดห้องนอนให้อากาศถ่ายเทสะดวกเพื่อให้ท่านหลับลึกได้ดียิ่งขึ้น
การมองเห็นลดลงหรือบกพร่อง เนื่องจากใช้งานสายตามาเป็นระยะเวลานาน
- การสังเกต = ท่านอาจเดินชนสิ่งของหรือหกล้มอยู่บ่อยครั้ง เพราะมองเห็นเป็นภาพเบลอหรือภาพซ้อน
- การดูแล = ไม่ให้ท่านอยู่ในที่มีแสงสว่างมากเกินไป และให้ท่านใช้แว่นสายตาสำหรับอ่านหนังสือระยะใกล้ หรือเพิ่มสารอาหารที่ช่วยบำรุงสายตาอย่างจำพวกวิตามินเอและโปรตีน
ผิวหนังแห้งลอก และผิวพรรณเสื่อมโทรม ทำให้มีแนวโน้มเป็นโรคผิวหนัง
- การสังเกต= ท่านเริ่มมีผิวหนังที่มีลักษณะแห้งขุยขาว มีรอยเหี่ยวย่น หรือผิวมีสีแดงสากร่วมกับมีอาการคัน
- การดูแล = เลือกครีมอาบน้ำหรือครีมบำรุงผิวที่เหมาะสมกับสภาพผิว ถนอมผิว และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว
ระบบย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ ท้องอืดท้องเฟ้อบ่อย
- การสังเกต = ท่านเริ่มขับถ่ายเริ่มยากขึ้น
- การดูแล = ใส่ใจเรื่องอาหารมากขึ้น เน้นสิ่งที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละมื้อเท่าที่จะทำได้ และให้ท่านฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน เพื่อช่วยให้ท่านมีร่างกายแข็งแรงขึ้น
อาการหลงลืม หรือคิดช้าลง ที่อาจเกิดจากโรคอัลไซเมอร์
- การสังเกต= ท่านมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ พฤติกรรม และความทรงจำ เช่น ชอบพูดถึงเรื่องในอดีตซ้ำๆ เห็นภาพหลอน
- การดูแล = ถึงแม้ภาวะความจำเสื่อมจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยชะลออาการได้ รวมไปถึงการหากิจกรรมที่ช่วยให้ท่านได้ฝึกฝนสมองได้คิดบ่อยๆ เช่น อ่านหนังสือ หรือเขียนหนังสือ
#อากงอาม่า #AgongAma